ดอยตุง 2

ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักประทับทรงงานจากทั่วประเทศไทย


พระตำหนักดอยตุง 2

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัตินั้น พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระราชวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ นานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงประชา โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งพระตำหนักแห่งต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำของพระราชกรณียกิจทั้งปวงนี้ Weddinglist จึงขอพาทุกท่านไปตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักที่สำคัญแห่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่ใช้สำหรับเป็นที่ประทับทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครับ

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

พระตำหนักจิตรลาดรโหฐาน

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อยู่ในพระราชวังดุสิต โดยนอกจากจะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ภายในบริเวณพระตำหนักยังเป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม อีกทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์ และยังมีโรงเรียนจิตรลดากับวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดา และบุตรหลานของข้าราชบริพารในพระราชสำนักอีกด้วยครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก : hoteltimeline.com

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

วังไกลกังวล หัวหิน

วังไกลกังวล เป็นพระราชฐานในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง เมื่อครั้งอดีต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จฯ โดยรถไฟไปประทับและฮันนีมูนที่พระตำหนักเปี่ยมสขุแห่งนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ พระองคืมักจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ในบางครั้งยังเสด็จฯ ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อตรวจดูงานในโครงการของท่าน เช่น โครงการชั่งหัวมัน โครงการหุบกะพง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก : evergo.in.th

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ 1

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระธาตุดอยสุเทพและดอยปุย จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรมที่เชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ โดยตัวพระตำหนักมีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง หลังคาทรงไทย

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.bhubingpalace.org

พระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย

พระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระองค์ทรงมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุง พร้อมทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า จะปลูกป่าบนดอยสูง จึงถือกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุงอีกด้วย

ขอบคุณภาพประกอบจาก : evergo.in.th

พระตำหนักเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

พระตำหนักเขาค้อ

พระตำหนักเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสที่เสด็จฯ แปรพระราชฐาน เพื่อทรงงานและตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริในเขาค้อและพื้นที่ใกล้เคียง จัดสร้างโดยข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากที่สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สงบลง ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ขอบคุณภาพประกอบจาก : cdn-cms.pgimgs.com

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร

พระตำหนักภูพาน

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง โดยทรงใช้แผนที่ทางอากาศและเสด็จฯ สำรวจเส้นทางบริเวณป่าเขา น้ำตก เมื่อสร้างพระตำหนักจนแล้วเสร็จ พระองค์มักจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับพักแรมเพื่อทรงงาน ในวโรกาสที่เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎร และทรงตรวจโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

ขอบคุณภาพประกอบจาก : touronthai.com

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เป็นที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคมของทุกปี การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ตั้งพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น หากพิจารณาในแง่เศรษฐกิจแล้ว นราธิวาสค่อนข้างจะล้าหลังกว่าในบรรดาจังหวัดชายแดนใต้ทั้งสี่ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ทั้งสี่จังหวัดมีปัญหาเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายเหมือนกัน เป็นที่สังเกตว่าจะโปรดเลือกจังหวัดที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก และมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง

นอกจากนี้ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ยังมีลักษณะรูปทรงหลังคาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ อันเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมของชาวตะวันตก นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยในบริเวณพระตำหนักที่ชายฝั่งนั้น ก่อนที่จะมีการสร้างพระตำหนัก บริเวณพื้นที่นั้นเดิมเป็นสุสานชาวมุสลิมอยู่แล้ว ตามปกติหากมีสถานที่เช่นนี้อยู่ก็ดูไม่เหมาะสม หรือมิฉะนั้นราษฎรเจ้าของสุสานก็คงไม่เต็มใจให้สร้าง แต่พระองค์ไม่ทรงรังเกียจที่จะมีสุสานอยู่ในเขตพระตำหนัก และราษฎรไทยมุสลิมก็เต็มใจที่จะให้ใช้บริเวณนั้นสร้างพระตำหนัก

ดังนั้น พระตำหนักแห่งนี้จึงน่าจะเป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งเดียวในประเทศ (และอาจจะในโลก) ที่มีสุสานอยู่ภายในบริเวณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเอาไว้ให้ราษฎรมุสลิมเข้าออกเขตพระราชฐาน เพื่อประกอบศาสนกิจอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ตามความต้องการได้ทุกเมื่อ

ขอบคุณภาพประกอบจาก : lifestyle.campus-star.com

แต่ละพระตำหนักนั้นถึงแม้จะดูสวยงาม แต่ภายในกลับดูเรียบง่ายจนแทบไม่อยากจะเชื่อเลยครับว่า นี่คือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในดวงใจคนไทยทั้งประเทศ

Source